ระบบนิเวศ หมายถึง ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในแหล่งที่อยู่อาศัยนั้นๆ เช่น สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในป่าไม้ก็จะมีความสัมพันธ์กับป่าไม้ แล้วเราก็เรียกความสัมพันธ์อย่างนี้ว่า ระบบนิเวศป่าไม้
ระบบนิเวศป่าไม้
ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ
กลุ่มสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ซึ่งจำแนกความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตได้ดังนี้
1. ความสัมพันธ์แบบได้ประโยชน์ร่วมกัน (Protocooperation) เป็นการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิด ซึ่งต่างได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย แต่สามารถแยกออกจากกันได้โดยดำเนินชีวิตตามปกติ มีความสัมพันธ์แบบ + , + เช่น ดอกไม้กับแมลง ควายกับนกเอี้ยง มดดำกับเพลี้ย ปูเสฉวนกับดอกไม้ทะเล
ผีเสื้อกับดอกไม้
ควายกับนกเอี้ยง
มดดำกับเพลี้ย
ปูเสฉวนกับดอกไม้ทะเล
2. ความสัมพันธ์แบบพึ่งพากัน (Mutualism) เป็นการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิด โดยได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย และเมื่อแยกออกจากกันจะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ มีความสัมพันธ์แบบ + , + เช่น แบคทีเรียไรโซเบียมที่อาศัยอยู่ในปมรากพืชตระกูลถั่ว แบคทีเรียได้รับพลังงานจากการสลายของสารอาหารที่อยู่ในรากพืช ส่วนแบคทีเรียไรโซเบียมสามารถตรึงแก๊สไนโตรเจนในอากาศแล้วเปลี่ยนเป็นสารประกอบไนเตรต ซึ่งเป็นปุ๋ยของพืชตระกูลถั่วได้ รากับสาหร่ายสีเขียวอยู่รวมกันเรียกว่า “ไลเคน” โดยสาหร่ายสีเขียวสร้างอาหารได้เอง แต่ต้องอาศัยความชื้นจากรา ส่วนราได้รับอาหารจากสาหร่ายสีเขียว ปลวกกับโพรโตซัวในลำไส้ปลวก ด้วงกับมด
พืชตระกูลถั่วกับแบคทีเรียที่ปมราก
รากับสาหร่ายสีเขียวเรียกว่า "ไลเคน"
ปลวกกับโพรโตซัวในลำไส้ปลวก
ด้วงกับมด
3. ความสัมพันธ์แบบอิงอาศัย (Commenselism) เป็นการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิด ในลักษณะที่ฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์ ส่วนอีกฝ่ายไม่ได้ประโยชน์ และไม่เสียประโยชน์ มีความสัมพันธ์แบบ + , 0 เช่น เฟิร์นเกาะบนต้นไม้ใหญ่ กล้วยไม้เกาะบนต้นไม้ใหญ่ ฉลามกับเหาฉลาม แมลงปีกแข็งกับปลวก
เฟิร์นกับต้นไม้ใหญ่
กล้วยไม้กับต้นไม้ใหญ่
ฉลามกับเหาฉลาม
แมลงปีกแข็งกับปลวก
4. ความสัมพันธ์แบบล่าเหยื่อ (Predation) เป็นการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิด ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ล่า (Predator) มีความแข็งแรง ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งถูกผู้ล่ากินเป็นอาหารเรียกว่า “เหยื่อ (Prey)” มีความสัมพันธ์แบบ + , - เช่น แมวจับหนู นกกินหนอนหรือไส้เดือน เหยี่ยวล่าไก่หรือกระต่ายเป็นอาหาร สิงโตล่าละมั่งหรือกวางเป็นอาหาร กบกับแมลง
แมวกับหนู
นกกับหนอน
เสือกับกวาง
กบกับแมลง
5. ความสัมพันธ์แบบปรสิต (Parasitism) เป็นการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิด โดยสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งไปอาศัยอยู่กับสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง โดยผู้อาศัย (Parasite) ได้ประโยชน์ และผู้ถูกอาศัย (Host) เสียประโยชน์ มีความสัมพันธ์แบบ + , - เช่น เห็บกับสุนัข เหากับคน พยาธิกับคน ต้นกาฝากบนต้นไม้ใหญ่
กาฝากกับต้นไม้ใหญ่
เหากับคน
เห็บกับสุนัข
พยาธิกับคน
ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตแต่ละแบบนั้น สามารถพบได้ในระบบนิเวศตั้งแต่ระบบนิเวศขนาดเล็กไปจนถึงระบบนิเวศขนาดใหญ่ ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงขนาดของประชากรในระบบนิเวศ และยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ธรรมชาติและระบบนิเวศเกิดความสมดุลอีกด้วย
บทเรียน e-learning วิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ โดย คุณครูพิมพ์นิภา ประเสริฐกรรณ์
สื่อเสริมการเรียนรู้
วิดีโอเรื่อง ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ โดย ครูเต้ย จุมพล คารอต
วิดีโอเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ โดย ครูโอ๋ สื่อการเรียนการสอน
วิดีโอเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ โดย Salinya Kongkasawadt
วิดีโอเรื่อง ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิต โดย เจนจิรา อินเรือง
แหล่งการเรียนรู้
ชีวิตกับระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เรื่องที่ 3 ระบบนิเวศและความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับสิ่งมีชีวิต
นานาน่ารู้ รอบรั้วม่วงเหลือง
สิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมป.6
ระบบนิเวศ
พิพิธภัณฑ์วิทยาเกาะธรรมชาติและทะเลไทย