วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2560

ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ

        ระบบนิเวศ หมายถึง ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในแหล่งที่อยู่อาศัยนั้นๆ เช่น สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในป่าไม้ก็จะมีความสัมพันธ์กับป่าไม้ แล้วเราก็เรียกความสัมพันธ์อย่างนี้ว่า ระบบนิเวศป่าไม้         

ระบบนิเวศป่าไม้

        สิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ในระบบนิเวศมีบทบาทหน้าที่แตกต่างกัน และมีความสัมพันธ์กันในลักษณะต่างๆ เช่น มดกินซากแมลงที่ตาย จิ้งจกกินแมลงเป็นอาหาร วัวกินหญ้า และต้นหญ้าเจริญเติบโตได้จากกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตเมื่อพิจารณาจากลักษณะการอยู่ร่วมกันในระบบนิเวศจะพบว่ามีทั้งความสัมพันธ์แบบพึ่งพากัน การเป็นศัตรู ไม่พึ่งพา ไม่เป็นศัตรู สิ่งมีชีวิตหนึ่งได้ประโยชน์ แต่สิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่งเสียประโยชน์ หรือพบว่าสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งได้ประโยชน์แต่สิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่งไม่ได้และไม่เสียประโยชน์
        ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ
        
        กลุ่มสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ซึ่งจำแนกความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตได้ดังนี้
                  
                  1. ความสัมพันธ์แบบได้ประโยชน์ร่วมกัน (Protocooperation) เป็นการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิด ซึ่งต่างได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย แต่สามารถแยกออกจากกันได้โดยดำเนินชีวิตตามปกติ มีความสัมพันธ์แบบ + , + เช่น ดอกไม้กับแมลง ควายกับนกเอี้ยง มดดำกับเพลี้ย ปูเสฉวนกับดอกไม้ทะเล

ผีเสื้อกับดอกไม้

ควายกับนกเอี้ยง

มดดำกับเพลี้ย

ปูเสฉวนกับดอกไม้ทะเล

                  2. ความสัมพันธ์แบบพึ่งพากัน (Mutualism) เป็นการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิด โดยได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย และเมื่อแยกออกจากกันจะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ มีความสัมพันธ์แบบ + , + เช่น แบคทีเรียไรโซเบียมที่อาศัยอยู่ในปมรากพืชตระกูลถั่ว แบคทีเรียได้รับพลังงานจากการสลายของสารอาหารที่อยู่ในรากพืช ส่วนแบคทีเรียไรโซเบียมสามารถตรึงแก๊สไนโตรเจนในอากาศแล้วเปลี่ยนเป็นสารประกอบไนเตรต ซึ่งเป็นปุ๋ยของพืชตระกูลถั่วได้ รากับสาหร่ายสีเขียวอยู่รวมกันเรียกว่า “ไลเคน” โดยสาหร่ายสีเขียวสร้างอาหารได้เอง แต่ต้องอาศัยความชื้นจากรา ส่วนราได้รับอาหารจากสาหร่ายสีเขียว ปลวกกับโพรโตซัวในลำไส้ปลวก ด้วงกับมด

พืชตระกูลถั่วกับแบคทีเรียที่ปมราก

รากับสาหร่ายสีเขียวเรียกว่า "ไลเคน"

ปลวกกับโพรโตซัวในลำไส้ปลวก

ด้วงกับมด

                  3. ความสัมพันธ์แบบอิงอาศัย (Commenselism) เป็นการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิด ในลักษณะที่ฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์ ส่วนอีกฝ่ายไม่ได้ประโยชน์ และไม่เสียประโยชน์ มีความสัมพันธ์แบบ + , 0 เช่น เฟิร์นเกาะบนต้นไม้ใหญ่ กล้วยไม้เกาะบนต้นไม้ใหญ่ ฉลามกับเหาฉลาม แมลงปีกแข็งกับปลวก

เฟิร์นกับต้นไม้ใหญ่

กล้วยไม้กับต้นไม้ใหญ่

ฉลามกับเหาฉลาม

แมลงปีกแข็งกับปลวก

                  4. ความสัมพันธ์แบบล่าเหยื่อ (Predation) เป็นการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิด ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ล่า (Predator) มีความแข็งแรง ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งถูกผู้ล่ากินเป็นอาหารเรียกว่า “เหยื่อ (Prey)” มีความสัมพันธ์แบบ + , - เช่น แมวจับหนู นกกินหนอนหรือไส้เดือน เหยี่ยวล่าไก่หรือกระต่ายเป็นอาหาร สิงโตล่าละมั่งหรือกวางเป็นอาหาร กบกับแมลง

แมวกับหนู

นกกับหนอน

เสือกับกวาง

กบกับแมลง

                 5. ความสัมพันธ์แบบปรสิต (Parasitism) เป็นการอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิด โดยสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งไปอาศัยอยู่กับสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง โดยผู้อาศัย (Parasite) ได้ประโยชน์ และผู้ถูกอาศัย (Host) เสียประโยชน์ มีความสัมพันธ์แบบ + , - เช่น เห็บกับสุนัข เหากับคน พยาธิกับคน ต้นกาฝากบนต้นไม้ใหญ่

กาฝากกับต้นไม้ใหญ่

 เหากับคน

เห็บกับสุนัข 

พยาธิกับคน

        ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตแต่ละแบบนั้น สามารถพบได้ในระบบนิเวศตั้งแต่ระบบนิเวศขนาดเล็กไปจนถึงระบบนิเวศขนาดใหญ่ ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงขนาดของประชากรในระบบนิเวศ และยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ธรรมชาติและระบบนิเวศเกิดความสมดุลอีกด้วย

บทเรียน e-learning วิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ โดย คุณครูพิมพ์นิภา ประเสริฐกรรณ์


สื่อเสริมการเรียนรู้

วิดีโอเรื่อง ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ โดย ครูเต้ย จุมพล คารอต
วิดีโอเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ โดย ครูโอ๋ สื่อการเรียนการสอน
วิดีโอเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ โดย Salinya Kongkasawadt
วิดีโอเรื่อง ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิต โดย เจนจิรา อินเรือง
      URL : https://www.youtube.com/watch?v=PTclvZ37NSo        

แหล่งการเรียนรู้

ชีวิตกับระบบนิเวศสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เรื่องที่ 3 ระบบนิเวศและความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับสิ่งมีชีวิต
นานาน่ารู้ รอบรั้วม่วงเหลือง
สิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมป.6
ระบบนิเวศ
พิพิธภัณฑ์วิทยาเกาะธรรมชาติและทะเลไทย